toward-a-nuclear-free-world

Reporting the underreported threat of nuclear weapons and efforts by those striving for a nuclear free world. A project of The Non-Profit International Press Syndicate Japan and its overseas partners in partnership with Soka Gakkai International in consultative status with ECOSOC since 2009.

INPS Japan
HomeLanguageThaiNuclear Weapons and Climate Change Threaten Human Survival - THAI

Nuclear Weapons and Climate Change Threaten Human Survival – THAI

-

ความอยู่รอดของมนุษย์กำลังถูกคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

บทสัมภาษณ์เดวิด ครีเจอร์ โดยจอห์น เอเวอรี

โคเปนเฮเกน | แซนตาบาร์บารา รัฐแคลิฟอร์เนีย (IDN) – การมุ่งร้าย การบ้าคลั่ง การเข้าใจผิด การคำนวณพลาด และการปลุกปลั่น หนึ่งใน “5ก” นี้อาจเป็นชนวนทำให้สงครามนิวเคลียร์ขึ้นได้ทุกเมื่อ เดวิด ครีเจอร์ บอกกับ จอห์น สเกลส์ เอเวอรี ในบทสัมภาษณ์สุดพิเศษนี้ว่า “จากทั้ง 5ก นี้ การมุ่งร้ายคือสิ่งเดียวที่เราพอจะป้องกันได้ด้วยการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ แต่ทว่ามันก็ไม่ได้การันตีผลลัพธ์ และที่สำคัญ การป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (ข่มขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์โต้กลับ) ก็ไม่อาจป้องกันเหตุการบ้าคลั่ง การเข้าใจผิด การคำนวณพลาด และการปลุกปลั่น (การแฮกระบบ) ได้เลยแม้แต่น้อย”

ครีเจอร์เป็นทั้งผู้ก่อตั้งและประธานของมูลนิธิสันติภาพแห่งยุคนิวเคลียร์ (Nuclear Age Peace Foundation: NAPF) เขาอุทิศตนให้กับการสร้างโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์มาตั้งแต่ปี 1982 และยังคงมุ่งมั่นสร้างสันติภาพและยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เอเวอรีเป็นทั้งนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง และยังเป็นหนึ่งในผู้ที่ออกมาเรียกร้องสันติภาพอย่างไม่ลดละ

ในบทสนทนาถามตอบนี้ เราจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกชื่นชมที่ทั้งเอเวอรีและครีเจอร์มีให้แก่กัน ซึ่งไม่ได้ถูกคัดกรองออกแต่อย่างใด และไม่ได้มีแบบแผนในการเขียนบทความมาเป็นโซ่ตรวนจำกัดขอบเขตรูปแบบและเนื้อหาในบทสนทนานี้

ด้านล่างนี้คือข้อความทั้งหมดจากบทสัมภาษณ์ครั้งนี้

จอห์น เอเวอรี (จอห์น): ถึง คุณเดวิด ผมรู้สึกชื่นชมคุณมานานในความกล้าหาญและการอุทิศตนทั้งชีวิตให้กับงานยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่คุณกรุณาให้ผมเป็นที่ปรึกษาของมูลนิธิสันติภาพแห่งยุคนิวเคลียร์ (NAPF) ก่อนอื่น รบกวนช่วยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัว ชีวิตในวัยเด็ก และการศึกษาของคุณให้เราฟังสักเล็กน้อยว่าอะไรทำให้คุณกลายมาเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนให้ยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก

เดวิด ครีเจอร์ (เดวิด): พวกเรารู้สึกขอบคุณที่คุณให้เกียรติมาเป็นที่ปรึกษาให้กับมูลนิธิสันติภาพแห่งยุคนิวเคลียร์ คุณจอห์นเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความรอบรู้มากที่สุดเท่าที่ผมรู้จักในแขนงภัยอันตรายของอาวุธนิวเคลียร์และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จะนำไปสู่อนาคตของสิ่งมีชีวิตบนโลก และคุณก็เขียนบอกเล่าภัยคุกคามเหล่านี้ออกมาได้อย่างเยี่ยมยอด

ในส่วนของครอบครัว ชีวิตในวัยเด็กและการศึกษา ผมเกิดในช่วง 3 ปีก่อนที่เมืองฮิโรชิม่าและนางาซากิจะถูกอาวุธนิวเคลียร์ทำลาย คุณพ่อของผมเป็นกุมารแพทย์ ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้านและเป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาล ท่านทั้งสองเชื่อมั่นในสันติภาพอย่างมาก และแสดงออกให้เห็นชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยในลัทธิทหาร

ชีวิตวัยเด็กของผมค่อนข้างจะธรรมดาทั่วไป ผมเข้าเรียนในวิทยาลัยออกซิเดนทอล ได้รับความรู้ดีๆ มากมายจากคณะศิลปศาสตร์ หลังศึกษาจบจากออกซิเดนทอล ผมมีโอกาสได้เดินทางไปญี่ปุ่นและเกิดความตระหนักเมื่อได้เห็นภาพการทำลายล้างที่ชาวฮิโรชิม่าและนางาซากิต้องเผชิญ ผมได้ตระหนักว่าตอนเราอยู่สหรัฐฯ เราได้แต่มองระเบิดเหล่านี้จากเหนือควันเห็ดและเห็นว่ามันเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ที่ญี่ปุ่น พวกเขาได้เห็นระเบิดลูกนี้จากใต้ควันเห็ด และมองว่ามันเป็นโศกนาฏกรรมแห่งการทำลายล้างผู้คนจำนวนมากโดยไม่แยกแยะ

หลังเดินทางกลับจากญี่ปุ่น ผมเข้าศึกษาต่อบัณฑิตวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยฮาวายจนจบปริญญาเอกสาขารัฐศาสตร์ ผมถูกเรียกเข้าเกณฑ์ทหาร แต่ในตอนนั้น ผมสามารถเลือกเข้าสังกัดทหารกองหนุนเพื่อชดเชยหน้าที่ทางทหารได้ แต่สุดท้ายก็ถูกเรียกให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ในเวลาต่อมา

ตอนอยู่กองทัพ ผมปฏิเสธคำสั่งไปเวียดนามและยื่นขอสถานะผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรม (conscientious objector) เพราะผมเชื่อว่าสงครามเวียดนามเป็นสิ่งผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม ผมจึงไม่เต็มใจที่จะเข้าร่วมด้วยความรู้สึกถึงผิดชอบชั่วดี ผมยื่นเรื่องไปยังศาลสหพันธรัฐจนได้รับความเห็นชอบให้ปลดประจำการจากกองทัพได้ในที่สุด ประสบการณ์ที่ผมได้รับจากในญี่ปุ่นและในกองทัพสหรัฐฯ เป็นตัวหล่อหลอมมุมมองความคิดที่ผมมีต่อสันติภาพและอาวุธนิวเคลียร์ มันทำให้ผมเชื่อว่าสันติภาพคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในยุคนิวเคลียร์ และเราจะต้องยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด

จอห์น: สงครามเทอร์โมนิวเคลียร์ที่มีอำนาจทำลายทุกสรรพสิ่งกำลังเป็นภัยคุกคามทั้งต่อมนุษยชาติและชีวภาค สงครามนี้อาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากข้อผิดพลาดทางเทคนิคหรือของมนุษย์เอง หรืออาจเกิดจากการเพิ่มระดับอย่างควบคุมไม่ได้ของสงครามที่ใช้อาวุธรูปแบบเดิม ช่วยพูดถึงภัยคุกคามอันยิ่งใหญ่นี้สักหน่อยได้ไหมครับ

เดวิด: สงครามนิวเคลียร์อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ในที่นี้ ผมอยากจะพูดถึงปัจจัย “5ก” คือ การมุ่งร้าย การบ้าคลั่ง การเข้าใจผิด การคำนวณพลาด และการปลุกปลั่น จากทั้ง 5ก นี้ การมุ่งร้ายคือสิ่งเดียวที่เราพอจะป้องกันได้ด้วยการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ แต่ทว่ามันก็ไม่ได้การันตีผลลัพธ์ และที่สำคัญ การป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (ข่มขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์โต้กลับ) ก็ไม่อาจป้องกันการบ้าคลั่ง การเข้าใจผิด การคำนวณพลาด และการปลุกปลั่น (การแฮกระบบ) ได้เลยแม้แต่น้อย

อย่างที่คุณชี้แนะไว้ ว่าสงครามในยุคนิวเคลียร์อาจเพิ่มระดับจนกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ ผมเชื่อว่าไม่ว่ามันจะเริ่มต้นอย่างไร สุดท้ายแล้ว สงครามนิวเคลียร์ก็จะกลายเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ และสิ่งเดียวที่จะป้องกันสงครามนี้ได้ ก็คือการยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด โดยอาศัยการเจรจาที่มีขั้นตอนเหมาะสม ตรวจสอบได้ ไม่สามารถย้อนกลับได้ และมีความโปร่งใส

จอห์น: ช่วยอธิบายให้เราฟังได้ไหมว่าสงครามนิวเคลียร์จะส่งผลกระทบต่อชั้นโอโซน อุณหภูมิของโลกและการเกษตรของเราอย่างไรบ้าง สงครามนิวเคลียร์จะก่อให้เกิดภาวะอดอยากขนาดใหญ่ได้หรือไม่

เดวิด: ตามความเข้าใจของผม สงครามนิวเคลียร์จะทำลายชั้นโอโซน ทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตผ่านเข้ามาถึงชั้นผิวโลกได้ในระดับสูงมาก นอกจากนี้ สงครามนิวเคลียร์ยังอาจส่งผลให้อุณหภูมิลดฮวบจนทำให้โลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็งใหม่ การเกษตรจะได้รับผลกระทบจากสงครามนิวเคลียร์อย่างเห็นได้ชัดมาก

นักวิทยาศาสตร์บรรยากาศบอกกับเราว่า แค่เพียงสงครามนิวเคลียร์ “เล็กๆ” ระหว่างอินเดียกับปากีสถานที่แต่ละฝ่ายใช้อาวุธนิวเคลียร์ประมาณ 50 ลูกถล่มเมืองของอีกฝ่าย ก็ทำให้เกิดเขม่าในชั้นสตราโทสเฟียร์มากพอที่จะบดบังแสงอาทิตย์อันอบอุ่น ทำให้ฤดูการเกษตรสั้นลง และทำให้เกิดภาวะอดอยากขนาดใหญ่จนเป็นเหตุให้ผู้คนกว่า 2 พันล้านต้องเสียชีวิต สงครามนิวเคลียร์ขนาดใหญ่จะส่งผลร้ายแรงกว่านี้อีกหลายเท่า และอาจทำให้สิ่งมีชีวิตอันซับซ้อนส่วนใหญ่บนโลกต้องถูกทำลาย

จอห์น: แล้วผลกระทบของรังสีจากฝุ่นกัมมันตรังสีล่ะครับ ช่วยอธิบายให้เราฟังได้ไหมว่าการทดสอบระเบิดที่เกาะบิกินี่ส่งผลต่อผู้คนบนหมู่เกาะมาร์แชลและเกาะใกล้เคียงอย่างไรบ้าง

เดวิด: ฝุ่นรังสีนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในอันตรายที่เด่นชัดของอาวุธนิวเคลียร์ ในช่วงปี 1946 ถึง 1958 สหรัฐฯ มีการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ในพื้นที่หมู่เกาะมาร์แชลทุกวันรวมกว่า 67 ครั้งตลอดระยะเวลา 12 ปี ระเบิดเหล่านี้มีอานุภาพทำลายล้างประมาณ 1.6 เท่าของระเบิดที่ใช้กับฮิโรชิม่า โดยการทดสอบ 23 ครั้งจากทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในพื้นที่เกาะปะการังบิกินี่บนหมู่เกาะมาร์แชล

การทดสอบเหล่านี้ทำให้มีสารปนเปื้อนกระจายไปทั่วทั้งหมู่เกาะและเรือประมงที่อยู่ห่างออกไปจากจุดทดสอบหลายร้อยไมล์ ปัจจุบัน เกาะบางแห่งยังคงมีสารปนเปื้อนมากเกินกว่าที่ผู้คนจะกลับไปอยู่อาศัยได้ สหรัฐฯ ปฏิบัติกับผู้คนบนหมู่เกาะมาร์แชลราวกับพวกเขาเป็นหนูทดลอง ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับผลกระทบของฝุ่นรังสีนิวเคลียร์เพื่อที่จะศึกษาหาผลกระทบที่รังสีนิวเคลียร์มีต่อสุขภาพมนุษย์

จอห์นมูลนิธิสันติภาพแห่งยุคนิวเคลียร์ร่วมมือกับหมู่เกาะมาร์แชลยื่นฟ้องชาติทั้งหมดที่ลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ [NPT] แต่ปัจจุบันกลับมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง ในข้อหาละเมิดมาตราที่ 6 ของสนธิสัญญา NPT ช่วยอธิบายได้ไหมครับว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง นายโทนี่ เดอ บรุนน์ รัฐมนตรีต่างประเทศของหมู่เกาะมาร์แชล ได้รับรางวัล Right Livelihood Award จากการมีส่วนในการยื่นฟ้องครั้งนี้ ช่วยเล่ารายละเอียดเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ไหมครับ

เดวิดมูลนิธิสันติภาพแห่งยุคนิวเคลียร์ได้ปรึกษาหารือกับหมู่เกาะมาร์แชลถึงกรณีที่พวกเขายื่นฟ้องประเทศติดอาวุธนิวเคลียร์ทั้ง 9 (สหรัฐ รัสเซีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีน อิสราเอล อินเดีย ปากีสถาน และเกาหลีเหนือ) อย่างหาญกล้า การพิจารณาคดีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในกรุงเฮก ซึ่งมีการยื่นฟ้อง 5 ประเทศแรกในข้างต้นในข้อหาไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดการปลดอาวุธตามมาตรา 6 ในสนธิสัญญา เนื่องจากไม่มีการเจรจาให้ยุติการใช้กองกำลังติดอาวุธนิวเคลียร์เพื่อให้การปลดอาวุธนิวเคลียร์บรรลุผล ในขณะที่ประเทศติดอาวุธนิวเคลียร์อีก 4 ประเทศซึ่งไม่ได้มีส่วนในสนธิสัญญา NPT ถูกฟ้องในข้อหาขาดการเจรจาเช่นเดียวกัน แต่เป็นภายใต้กฎหมายประเพณีระหว่างประเทศ โดยที่สหรัฐฯ ถูกฟ้องในศาลสหพันธรัฐของสหรัฐฯ เพิ่มเติมด้วย

จากทั้ง 9 ประเทศ มีเพียงสหราชอาณาจักร อินเดีย และปากีสถานที่ยอมรับในอำนาจการตัดสินของ ICJ โดยในส่วนของ 3 คดีความนี้ ศาลตัดสินว่าไม่มีข้อโต้แย้งเพียงพอระหว่างฝ่ายต่างๆ และให้ยกฟ้องโดยไม่พิจารณาสาระสำคัญในคดีความ คะแนนเสียงจากผู้พิพากษาทั้ง 16 คนใน ICJ ค่อนข้างสูสีกันมาก อย่างในกรณีของสหราชอาณาจักร คะแนนเสียงจากผู้พิพากษาแตกออกเป็น 8 ต่อ 8 คดีนี้จึงถูกตัดสินด้วยคะแนนชี้ขาดจากประธานศาลซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส

คดีความในศาลสหพันธรัฐของสหรัฐฯ ก็ถูกยกฟ้องก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาความถูกผิดที่แท้จริง หมู่เกาะมาร์แชลเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยินดีลุกขึ้นต่อสู้กับประเทศติดอาวุธนิวเคลียร์ทั้ง 9 ในการพิจารณาคดีเหล่านี้ ภายใต้การนำอันหาญกล้าของโทนี่ เดอ บรุนน์ ผู้ที่ได้รับรางวัลมากมายจากการเป็นแกนนำในการแก้ไขปัญหานี้ ทางเราจึงรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับเขาในการพิจารณาคดีเหล่านี้ แต่เป็นที่น่าเศร้าที่คุณโทนี่เสียชีวิตไปเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา

จอห์นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ปี 2017 ได้มีการผ่านร่างสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (TPNW) ด้วยคะแนนเสียงอันล้นหลามจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ถือเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ในการต่อสู่เพื่อขจัดภัยทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์ออกไปจากโลก ตอนนี้สนธิสัญญานี้อยู่ในขั้นใดครับ

เดวิดปัจจุบันสนธิสัญญายังอยู่ในขั้นลงนามและให้สัตยาบัน โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ 90 วันหลังจากประเทศที่ 50 ให้สัตยาบันหรือลงนามในสนธิสัญญา ตอนนี้ 69 ประเทศได้ลงนามเป็นที่เรียบร้อย และ 19 ประเทศได้ให้สัตยาบันหรือลงนามในสนธิสัญญาแล้ว แต่ตัวเลขนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ICAN [แคมเปญปลดอาวุธนิวเคลียร์สากลหรือ International Campaign to Abolish Nuclear Weapons] และองค์กรพันธมิตรยังคงเดินหน้าชักจูงให้ประเทศต่างๆ เข้าร่วมสนธิสัญญาอย่างต่อเนื่อง

จอห์นICAN ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากการเป็นแกนนำในการจัดทำสนธิสัญญา TPNW และมูลนิธิสันติภาพแห่งยุคนิวเคลียร์ก็เป็นหนึ่งใน 468 หน่วยงานที่ร่วมกันจัดตั้ง ICAN เราจึงเรียกได้ว่าคุณเดวิดคือผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ผมเคยเสนอชื่อคุณเดวิด รวมไปถึงองค์กร NAPF ให้เข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอยู่หลายครั้งทีเดียว ช่วยพูดถึงกิจกรรมต่างๆ ที่อาจทำให้คุณมีคุณสมบัติที่จะได้รับรางวัลนี้ได้ไหมครับ

เดวิดผมและทาง NAPF รู้สึกขอบคุณอย่างสุดซึ้งที่คุณให้เกียรติเสนอชื่อพวกเราให้เข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพหลายครั้ง ผมอยากบอกว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผมคือการได้ก่อตั้งและเป็นแกนนำมูลนิธิสันติภาพแห่งยุคนิวเคลียร์ รวมไปถึงการได้มุ่งมั่นทุ่มเททำงานเพื่อสร้างสันติภาพและยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดมาอย่างต่อเนื่อง ผมไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะทำให้ผมมีคุณสมบัติเพียงพอสำหรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพหรือไม่ แต่มันเป็นงานที่ดี น่านับถือ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับผมอย่างมาก นอกจากนี้ ผมยังรู้สึกว่างานที่พวกเราทำที่มูลนิธินั้น ถึงแม้จะเป็นงานในระดับสากล แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ทำอะไรให้คืบหน้าได้ยากเป็นพิเศษ

แต่ผมอยากจะบอกว่า ผมรู้สึกมีความสุขอย่างยิ่งที่ได้ทำงานเพื่อเป้าหมายที่มีความสำคัญต่อมนุษยชาติทั้งมวล ในระหว่างที่ทำงานนี้ ผมได้พบเจอผู้คนมากมาย รวมไปถึงคุณจอห์น ที่อุทิศตนเพื่อมนุษยชาติและสมควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเป็นอย่างยิ่ง มีผู้คนเก่งๆ มากมายที่มุ่งมั่นเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อสร้างสันติภาพและยุติการใช้นิวเคลียร์ ผมอยากจะโค้งคำนับให้กับพวกเขาทุกคน แต่ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดคืองานที่พวกเราทำ ไม่ใช่รางวัลต่างๆ หรือแม้แต่โนเบล ถึงแม้โนเบลจะทำให้เราเป็นที่รู้จักและช่วยสนับสนุนให้เราสร้างความคืบหน้าเพิ่มเติมได้ ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ICAN พวกเราเริ่มรวมตัวกันและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมาตลอดระยะเวลาหลายปี พวกเราจึงรู้สึกยินดีที่ได้รับรางวัลนี้ร่วมกัน

จอห์น: เครือข่ายอุตสาหกรรมการทหารทั่วโลกจำเป็นต้องมีเหตุปะทะร้ายแรงเพื่อสนับสนุนการของบประมาณก้อนใหญ่ ช่วยพูดถึงอันตรายจากการดำเนินนโยบายที่เสี่ยงต่อสงครามสักเล็กน้อยได้ไหมครับ

เดวิด: ใช่ครับ เครือข่ายอุตสาหกรรมการทหารทั่วโลกเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การดำเนินนโยบายที่เสี่ยงต่อสงครามเท่านั้น แต่เงินทุนก้อนใหญ่ที่พวกเขาได้รับยังเป็นเงินที่ดึงมาจากกิจกรรมเพื่อสังคมที่จะนำไปสนับสนุนงานสาธารณสุข การศึกษา ที่อยู่อาศัย และการปกป้องสิ่งแวดล้อม เงินทุนที่ไหลเข้าเครือข่ายอุตสาหกรรมการทหารในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ จึงถือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

ผมเพิ่งอ่านหนังสือดีๆ เล่มหนึ่งชื่อว่า Strength through Peace เขียนโดยจูดิธ อีฟ ลิปตัน และเดวิด พี. บาราช หนังสือเล่มนี้พูดถึงคอสตาริกา ประเทศที่ยอมยกเลิกกองกำลังทางทหารตั้งแต่ปี 1948 และใช้ชีวิตอย่างสันติท่ามกลางดินแดนที่เต็มไปด้วยอันตรายนับแต่นั้นเป็นต้นมา หนังสือเล่มนี้มีชื่อรองว่า “การสร้างเขตปลอดทหารช่วยสร้างความสุขและสันติสุขให้กับคอสตาริกาได้อย่างไร และสิ่งที่นานาชาติสามารถเรียนรู้ได้จากประเทศเขตร้อนเล็กๆ แห่งนี้”

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดีมาก เพราะมันแสดงให้เห็นแนวทางการสร้างสันติสุขที่ดีกว่าการสร้างความแข็งแกร่งทางทหาร เรียกได้ว่าเป็นการพลิกคำกล่าวโบราณของชาวโรมันที่ว่า “หากต้องการสันติสุข จงเตรียมการทำสงคราม” แต่ตัวอย่างจากประเทศคอสตาริกากลับบอกเราว่า “หากต้องการสันติสุข จงเตรียมการสร้างสันติสุข” เพราะมันเป็นเส้นทางที่เหมาะสมและสมเหตุสมผลกว่ามากในการสร้างสันติภาพ

จอห์น: การบริหารประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์มีส่วนทำให้เกิดภัยคุกคามจากสงครามนิวเคลียร์หรือไม่

เดวิดผมคิดว่าตัวโดนัลด์ ทรัมป์เองมีส่วนทำให้เกิดภัยคุกคามจากสงครามนิวเคลียร์ เขาเป็นคนหลงตัวเอง เปลี่ยนใจง่าย และไม่ค่อยยอมประนีประนอม ซึ่งเป็นอุปนิสัยที่ไม่เหมาะกับผู้ที่จะมากุมบังเหียนคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ที่มีแสนยานุภาพมากที่สุดในโลก อีกทั้งเขายังห้อมล้อมไปด้วยพวก “ใช่ครับ” ที่เอาแต่บอกในสิ่งที่เขาอยากได้ยิน ยิ่งไปกว่านี้ ทรัมป์ยังดึงสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงกับอิหร่านและประกาศเจตนารมณ์ที่จะถอนตัวจากสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง [Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty หรือสนธิสัญญา INF] ที่เราทำกับรัสเซีย การควบคุมคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ภายใต้แกนนำของทรัมป์อาจเป็นภัยที่มีโอกาสนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ได้มากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มยุคนิวเคลียร์เลยก็ว่าได้

จอห์น: ช่วยพูดถึงเหตุไฟป่าที่กำลังเกิดขึ้นในแคลิฟอร์เนียหน่อยได้ไหมครับ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นมหันตภัยที่ร้ายแรงพอๆ กับมหันตภัยจากอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่

เดวิดเหตุไฟป่าในแคลิฟอร์เนียตอนนี้เป็นเหตุการณ์ที่น่าสยดสยองที่สุดในประวัติศาสตร์ของแคลิฟอร์เนีย เหตุไฟป่าเหล่านี้เป็นอีกสิ่งที่บ่งชี้ถึงสภาวะโลกร้อน เช่นเดียวกับความร้ายแรงที่ทวีสูงขึ้นของพายุเฮอร์ริเคน ไต้ฝุ่นและเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นมหันตภัยที่ร้ายแรงพอๆ กับมหันตภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ มหันตภัยจากอาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ส่วนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เรากำลังจะถึงจุดที่เราไม่มีทางหวนกลับ และโลกอันศักดิ์สิทธิ์ของเรากำลังจะกลายเป็นดินแดนที่มนุษย์ไม่อาจอาศัยอยู่ได้ [IDN-InDepthNews – 9 ธันวาคม 2018]

ภาพถ่าย (บน): เดวิด ครีเจอร์ ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิสันติภาพแห่งยุคนิวเคลียร์ เครดิต: NAPF

Most Popular