toward-a-nuclear-free-world

Reporting the underreported threat of nuclear weapons and efforts by those striving for a nuclear free world. A project of The Non-Profit International Press Syndicate Japan and its overseas partners in partnership with Soka Gakkai International in consultative status with ECOSOC since 2009.

INPS Japan
HomeLanguageThaiNuclear Deterrence Policy Gathering Steam in India - Thai

Nuclear Deterrence Policy Gathering Steam in India – Thai

-

นโยบายการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์เข้มแข็งขึ้นในอินเดีย

โดย สุธา รามาจันทรัน

บังกาลอร์ (IDN) – “แม้อินเดียจะเป็นมหาอำนาจทางนิวเคลียร์แบบไม่เต็มใจนัก การป้องปรามด้วยนิวเคลียร์ก็จะยังคงมีบทบาทสำคัญในยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของชาติของอินเดียตลอดไม่กี่สิบปีถัดไป” พลจัตวากุรมีต กันวัล ผู้ได้รางวัล Distinguished Fellow ที่สถาบันศึกษาและวิเคราะห์การป้องกันประเทศของอินเดีย (IDSA) กล่าว

ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขา ‘Sharpening the Arsenal: India’s Evolving Nuclear Deterrence Policy’ เขาได้อธิบายเหตุผลไว้: “เมื่อศัตรูของอินเดียเชื่อว่าอินเดียมีความมุ่งมั่นทั้งทางการเมืองและการทหารที่จำเป็นและอุปกรณ์ที่จะโต้ตอบการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ด้วยการโต้กลับที่รุนแรงซึ่งจะก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตมนุษย์ที่ไม่อาจรับได้และความเสียหายทางวัตถุที่ไม่มีอะไรเทียบเท่านั้น ศัตรูจึงจะถูกยับยั้ง”

เป็นเรื่องที่ขัดกับฉากหลังของการรับรู้นี้ที่วันที่ 18 มกราคม อินเดียประสบความสำเร็จในการบินทดสอบ อัคนี-5 ขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) พิสัยไกลที่มีศักยภาพอาวุธนิวเคลียร์

“นี่เป็นการทดสอบขีปนาวุธครั้งที่ห้าและครั้งที่สามต่อเนื่องกันจากท่อเก็บจรวดบนฐานยิงขีปนาวุธเคลื่อนที่บนถนน ภารกิจทั้งห้าครั้งประสบผลสำเร็จ” รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม (MoD) ของอินเดียกล่าวเสริมในแถลงการณ์ว่าสิ่งนี้ยิ่งยืนยันถึงความน่าเชื่อถือของการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์ของอินเดีย

ในขณะที่ อัคนี-1 และ 2 ซึ่งมีพิสัยใกล้กว่าถูกพัฒนาโดยคำนึงถึงปากีสถาน อัคนี-5 ถูกคาดหวังว่าจะ “จัดเตรียม การป้องปรามยับยั้งต่อประเทศจีนที่เป็นที่ต้องการอย่างยิ่งให้กับอินเดีย” อัคนี-5 มีพิสัยการโจมตีมากกว่า 5,000 กม. และสามารถส่งหัวรบนิวเคลียร์ไปได้เกือบทั่วประเทศจีน

ความสำเร็จที่แสดงให้เห็นซ้ำ ๆ ของ อัคนี-5 บอกเป็นนัยว่า อัคนี-5 จะถูกรวมเข้าไปในกองบัญชาการทัพยุทธศาสตร์ในไม่ช้า

มันจะเป็น “อีกก้าวหนึ่งของความพยายามของอินเดียในการทำศักยภาพทางขีปนาวุธของตนเองให้ทันสมัย” เจ้าหน้าที่อาวุโสใน องค์กรวิจัยและพัฒนาด้านความมั่นคง (DRDO) บอกกับ IDN โดยเสริมว่าอินเดียได้ “เสริมความเชื่อในการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์ของตนเป็นรากฐานของความมั่นคงของประเทศอีกครั้ง”

รากเหง้าของความมุ่งมั่นดังกล่าวซึ่งเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่แถลงไว้เมื่อทศวรรษก่อนหน้าถึงการปลดอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลกสามารถสาวย้อนไปได้ถึงปี 2488 เมื่อสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลงฮิโรชิม่าและนางาซากิ มหาตมะ คานธีได้ประณามการใช้นิวเคลียร์ว่าเป็น “การใช้วิทยาศาสตร์ที่ต่ำทรามที่สุด” การอุทิศตนของอินเดียที่เป็นเอกราชให้กับโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ได้รับอิทธิพลจากการรับรู้อาวุธนิวเคลียร์ว่าเป็นสิ่งผิดศีลธรรม

โดยการติดตามวิวัฒนาการของนโยบายการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของอินเดียผ่านระยะกว้าง ๆ สี่ระยะ M. V รามานะ ผู้ดำรงตำแหน่ง Simons Chair ในการปลดอาวุธ ความปลอดภัยของมนุษย์และระดับโลกที่สถาบันหลิวเพื่อปัญหาระดับโลกที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย และผู้เขียน The Power of Promise: Examining Nuclear Energy in India บอกกับ IDN ว่าระหว่างระยะที่หนึ่ง ซึ่งก็คือระยะที่ชวาหะร์ลาล เนห์รูเป็นนายกรัฐมนตรี (2490-2507) การอุทิศตนของอินเดียต่อการปลดอาวุธนิวเคลียร์เข้มแข็งที่สุด

เนห์รู “สนใจอย่างแท้จริงในการทำสิ่งที่ตนสามารถทำได้เพื่อไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์” และมีส่วนช่วยในการเริ่มต้นที่ “มีความสำคัญในระยะยาวสำหรับการปลดอาวุธนิวเคลียร์” เขากล่าว ที่สำคัญ อินเดียภายใต้การปกครองของเนห์รูงดเว้นจากการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

สิ่งนี้เปลี่ยนไประหว่างระยะที่สอง (2507-2517) หลังจากความพ่ายแพ้ในสงครามชายแดนกับประเทศจีนในปี 2505 และการทดสอบนิวเคลียร์ของจีนที่ Lop Nor ในปี 2507 ประเทศอินเดียเริ่มพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และทำ “การระเบิดนิวเคลียร์โดยสันติ” ในปี 2517 ในขณะเดียวกัน อินเดียผลักดันการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในระดับโลกในระยะเวลานี้ แต่เป็นเพียง “ความพยายามที่เปราะบาง” ซึ่ง “ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก” รามานะกล่าว

ระยะที่สามของนโยบายการปลดอาวุธของอินเดีย (2517-2541) เริ่มขึ้นและสิ้นสุดลงด้วยการทดสอบนิวเคลียร์ที่โปคะราน โครงการอาวุธนิวเคลียร์ของอินเดีย “วิวัฒนาการอย่างช้า ๆ” แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาขีปนาวุธ ปฤถวี และ อัคนี แต่ “มีข้อจำกัดที่ตั้งขึ้นเองในโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของอินเดีย” รามานะชี้

ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี อินทิรา คานธี และบุตรชายและผู้สืบทอด ราชีพ คานธี ทำงานเพื่อการปลดอาวุธนิวเคลียร์ระดับโลก ในการกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติในปี 2531 ราชีพ คานธีได้เสนอ “แผนดำเนินการเพื่อการนำทางในระเบียบโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์และปราศจากความรุนแรง” ที่มีกรอบเวลา

ต่างจากสามระยะแรก นโยบายการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของอินเดียระยะที่สี่ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2541 ได้เห็นอินเดียที่มี “ความพยายามที่ไม่มากนักต่อการปลดอาวุธนิวเคลียร์” รามานะกล่าว ที่สำคัญ อินเดียได้หลีกเลี่ยงการสนับสนุนสนธิสัญญาที่จะจำกัดโครงการอาวุธของตนเอง

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอินเดียหลีกห่างจากการเจรจาที่นำไปสู่การที่สหประชาชาตินำสนธิสัญญาห้ามใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่เป็นประวัติศาสตร์มาใช้ในเดือนมิถุนายน 2560

“การพูดคุยเล็ก ๆ น้อย ๆ ถึงการปลดอาวุธที่เกิดขึ้นเป็นแค่การตีสองหน้าเสียส่วนใหญ่” รามานะให้เหตุผล ด้วยเหตุว่ามันประกอบกับการสะสมคลังอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง

มันปรีต เสธิ ผู้เป็น Senior Fellow และผู้นำโครงการความมั่นคงของประเทศที่ศูนย์ศึกษาพลังทางอากาศ (CAPS) ซึ่งมีฐานในนิวเดลีไม่เห็นด้วย ความต้องการปลดอาวุธของอินเดีย “ไม่ใช่เรื่องหลอกลวง” เธอบอกกับ IDN

“การอุทิศตนของอินเดียที่จะปลดอาวุธและความพยายามในการสร้างการป้องปรามที่น่าเชื่อถือ ซึ่งรวมถึงการใช้งาน อัคนี-5 เป็นสิ่งสำคัญทางความมั่นคงสองประการของอินเดีย” เสธิกล่าว

เมื่อพิจารณาถึง “ประเทศเพื่อนบ้านนิวเคลียร์” แล้ว ประเทศอินเดียไม่เอื้อให้สามารถละทิ้งการป้องปรามได้ในบริบทปัจจุบัน ด้วยเหตุดังกล่าว ประเทศอินเดียต้องรักษาการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์ไว้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวก็ตระหนักว่าจะเป็นการดีที่สุดสำหรับความมั่นคงของตนในโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ สองสิ่งนี้ไม่ได้เป็นขั้วตรงข้ามกัน เธอประกาศ

ตามที่เสธิกล่าว จนกว่าโลกจะไปถึงการตกลงปลดอาวุธนิวเคลียร์ที่ผ่านการต่อรองหลายด้าน เป็นสากล และตรวจสอบได้ การแสวงหาการป้องปรามของอินเดียถือเป็นวิธีที่ชาญฉลาดในการบรรลุความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากความสำคัญของอาวุธนิวเคลียร์ในยุทธศาสตร์ของสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้งห้า (อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีนและสหรัฐอเมริกา) เพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่ง

การทบทวนท่าทีทางนิวเคลียร์ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ เผยให้เห็นว่าสหรัฐยินดีที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งรวมถึงการตอบสนองต่อ “เหตุการณ์สุดโต่ง” แม้แต่การโจมตีโครงสร้างพื้นฐานและพลเรือนที่ไม่ใช้นิวเคลียร์

สิ่งนี้ส่ง “สัญญาณที่แย่ไปยังประเทศอย่างอินเดียและจีน” รามานะกล่าว หากประเทศเช่นสหรัฐอเมริกาที่มีขีดความสามารถในการใช้อาวุธแบบดั้งเดิมต้องลงทุนในอาวุธนิวเคลียร์ที่ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า ก็จะทำให้นักวางแผนทางทหารในอินเดียและจีนมีแนวโน้มที่จะมีแนวคิดคล้าย ๆ กัน

ในอินเดีย มีการเรียกร้องให้ปรับหัวรบนิวเคลียร์ของตนให้ทันมัยและระบบการส่งหัวรบมากขึ้นเรื่อย ๆ

มีสัญญาณว่าอินเดียอาจจะละทิ้งนโยบายการ “ไม่เป็นฝ่ายยิงก่อน” ที่ยึดถือมานานมากยิ่งขึ้น สิ่งนี้จะทำให้อินเดียยินดียิ่งขึ้นที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์กับปากีสถานก่อนที่อีกฝ่ายจะใช้ เพื่ออีกฝ่ายปลดอาวุธโดยสมบูรณ์เพื่อให้แน่ใจว่าเมืองในอินเดียจะไม่ตกเป็นเป้าการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ของปากีสถาน [IDN-InDepthNews – 06 March 2560]

Most Popular