toward-a-nuclear-free-world

Reporting the underreported threat of nuclear weapons and efforts by those striving for a nuclear free world. A project of The Non-Profit International Press Syndicate Japan and its overseas partners in partnership with Soka Gakkai International in consultative status with ECOSOC since 2009.

INPS Japan
HomeLanguageThaiIn 2018, Who Will Speak Up for Peace in the Korean Peninsula?...

In 2018, Who Will Speak Up for Peace in the Korean Peninsula? – Thai

-

ใครจะเป็นผู้ออกมาเรียกร้องสันติภาพให้กับคาบสมุทรเกาหลีในปี 2018

มุมมองจาก ริค เวย์แมน

ริค เวย์แมน เป็นผู้อำนวยการโครงการประจำมูลนิธิสันติภาพแห่งยุคนิวเคลียร์ (NAPF)

แซนตาบาร์บารา รัฐแคลิฟอร์เนีย (IDN) – การประชุมสุดยอดผู้นำระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ กับ คิม จอง อึน น่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ที่จะถึงนี้ แต่คำถามคือ นี่ถือเป็นเรื่องดีหรือไม่ การประชุมนี้จะจัดขึ้นที่ไหนและเมื่อไหร่ พวกเขาจะพูดคุยถึงประเด็นใด ใครเป็นผู้เตรียมการให้กับประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ในการประชุมที่มีเดิมพันสูงครั้งนี้ และการประชุมนี้จะประสบผลสำเร็จหรือไม่

ในยุคของทรัมป์ เราคงไม่อาจคาดเดาคำตอบในเรื่องนี้ได้ หากแต่ยังมีประเด็นสำคัญบางอย่างที่เราต้องไม่ลืม หากการประชุมสุดยอดผู้นำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนี้จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้จริงในความขัดแย้งที่มีมาหลายยุคสมัยบนคาบสมุทรเกาหลี

เกาหลีใต้เป็นชาติที่มีเอกราชในการปกครอง นายมุน แจ อิน ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ ได้รับเลือกตั้งในปี 2017 หลังจากหาเสียงด้วยนโยบายหันหน้าเข้าคุยและสร้างความปรองดองกับเกาหลีเหนือ นายมุนระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเขาต้องการให้ประเทศของตน “สามารถเป็นแกนนำในการคลี่คลายประเด็นคาบสมุทรเกาหลี”

การแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว “เปียงชาง 2018” และข้อตกลงการพักรบเนื่องในโอลิมปิก (Olympic Truce) ที่เริ่มขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 25 มีนาคม เปิดโอกาสให้เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ได้สานสัมพันธ์ทางการทูตอีกครั้ง ทั้งยังเป็นโอกาสให้ฝ่ายทหารจากทั้ง 2 ประเทศได้พูดคุยกัน สื่อตะวันตกจำนวนมากพูดถึงประเด็นการเข้าร่วมการแข่งขันของเกาหลีเหนือในครั้งนี้ รวมถึงความพยายามทางการทูตในการหา “หนทาง” ระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้

แนวคิดที่มีสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางนี้ให้ความสำคัญกับความรู้ความเข้าใจของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ตลอดจนความต้องการของชาวเกาหลีใต้ที่อยากเห็นสันติสุข คะแนนความยอมรับถึง 74%ที่ประธานาธิบดี มุน ได้รับในขณะนี้ สะท้อนให้เห็นว่าแนวทางการดำเนินการงานของ มุน เป็นสิ่งที่ชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ต้องการ

เดือนเมษายนนี้ จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำระหว่าง มุน แจ อิน และ คิม จอง อึน ก่อนที่การประชุมที่น่าจับตามองยิ่งกว่าระหว่างนายคิมและนายทรัมป์จะเกิดขึ้น นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สองผู้นำเกาหลีจะได้หารือและสร้างความร่วมมือเพื่อสร้างหลักประกันให้กับความปลอดภัยของพลเมืองนับล้านในประเทศของตน

สิ่งที่ชาวสหรัฐฯ ทั่วไปต้องการจากเกาหลีเหนือ คือการให้เกาหลีเหนือยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ของตน ที่มักถูกพูดถึงกันในนามความต้องการให้เกาหลีเหนือ “ปลดอาวุธนิวเคลียร์” หรือความต้องการให้คาบสมุทรเกาหลีปลดอาวุธนิวเคลียร์

ทูตจากเกาหลีใต้ที่เดินทางไปยังเกาหลีเหนือเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2018 กล่าวว่า “เกาหลีเหนือแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าตนมีความมุ่งมั่นที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี และระบุชัดว่าเมื่อใดที่ภัยทางการทหารที่กำลังคุกคามเกาหลีเหลือหมดสิ้นไปและระบบรักษาความปลอดภัยของตนมีความมั่นคง ก็ไม่มีเหตุผลที่เกาหลีเหนือจะต้องมีอาวุธนิวเคลียร์อีกต่อไป”

เมื่อพูดถึงประเด็นการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี เราต้องไม่ลืมว่านอกจากอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเอง ที่นี่ยังมีอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาอีกนับร้อยที่ “พร้อมทำลาย” ดังที่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวไว้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิด ขีปนาวุธข้ามทวีปภาคพื้นดิน และขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์จากเรือดำนํ้าของสหรัฐฯ ที่ล้วนแล้วแต่มีอานุภาพในการ “ทำลายล้าง” เกาหลีเหนือ

ขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเครื่องรับประกันความปลอดภัยที่เพียงพอสำหรับเกาหลีเหนือหมายถึงสิ่งใด จะเป็นข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ว่าจะยุติการส่งกำลังทหารร่วมเข้ารุกรานเกาหลีเหนือ หรือจะเป็นคำสัญญาจากสหรัฐอเมริกาในการเข้าร่วมการเจรจาว่าด้วยความสุจริต ร่วมกับเกาหลีเหนือและประเทศติดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งเจ็ด เพื่อให้การปลดอาวุธนิวเคลียร์ประสบผลสำเร็จโดยสมบูรณ์

สิ่งหนึ่งที่น่าจะขาดไม่ได้ในการทำข้อตกลงด้านความมั่นคงนี้ คือ สนธิสัญญาสันติภาพเพื่อยุติสงครามเกาหลี สงครามที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 1950 และหยุดลงเพียงชั่วคราวในปี 1953 ด้วยข้อตกลงสงบศึกชั่วคราว แต่ผ่านมา 65 ปี ในวันนี้ก็ยังไม่มีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพใดๆ

ประธานาธิบดีมุนกล่าวไว้เมื่อปี 2017 ว่า “เราควรทำสนธิสัญญาสันติภาพร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเมื่อสิ้นสุดสงครามเกาหลี เพื่อสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนบนคาบสมุทรนี้”

การให้ผู้หญิงเข้าไปมีเสียงในการเจรจาเพื่อสันติภาพนับเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญ ในงานสัมมนาออนไลน์ “ผู้หญิงกับการดิ้นรนเพื่อสันติภาพ” (Women Waging Peace) ในวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา คริสตีน อาห์น จาก Women Cross DMZ และ มิดิอา เบนจามิน จาก CODEPINK ได้พูดคุยถึงความจำเป็นในการให้ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทในการเจรจาเพื่อสันติภาพในภูมิภาคทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของเกาหลี

อาห์น กล่าวว่า “เรามีช่วงเวลากว่า 30 ปีเป็นบทพิสูจน์แล้วว่า เมื่อใดก็ตามที่สตรีได้เข้าไปมีส่วนร่วม การพูดคุยจะนำไปสู่ข้อตกลงเพื่อสันติสุขที่แท้จริงได้ ทั้งยังมีความยั่งยืนยิ่งกว่ามาก”

คริสตีน อาห์น ได้ตีแผ่แนวความคิดเหล่านี้ผ่านสุดยอดการบรรยายของเธอที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา ในงานฉลองครบรอบ 17 ปี การบรรยายว่าด้วยเรื่อง “อนาคตของมนุษยชาติ” โดย แฟรงค์ เค. เคลลี ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสันติภาพแห่งยุคนิวเคลียร์ นอกจากนี้ อาห์นยังได้ประกาศว่า Women Cross DMZ จะจัดกิจกรรมข้ามพรมแดนเขตปลอดทหารในเดือนพฤษภาคม ปี 2018 โดยได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หยุดสร้างความยั่วยุ

สหรัฐฯ และเกาหลีใต้วางแผนที่จะจัดกองกำลังทหารร่วมอีกครั้งในเดือนเมษายน แม้จะมีการลดกำลังลงในบางส่วนก็ตาม ดูเหมือนว่าการดำเนินการนี้จะยังเกิดขึ้นไม่ว่าอย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นการสร้างความยั่วยุโดยไม่จำเป็น ทางสหรัฐฯ มีกำหนดการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป มินิตแมน 3 (Minuteman III) ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนที่จะมีการยกเลิกอย่างเงียบๆตามข้อตกลงการพักรบเนื่องในโอลิมปิก (Olympic Truce)

ในส่วนของเกาหลีเหลือได้ตกลงที่จะ “หยุดกลยุทธ์การสร้างความยั่วยุ อาทิเช่น การเพิ่มอาวุธนิวเคลียร์หรือการทดสอบขีปนาวุธ ตราบเท่าที่การเจรจายังดำเนินต่อไป”

การปิดฉากสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการดูเหมือนจะไม่มีทางเกิดขึ้นจริงได้หากขาดเสียงเรียกร้องจากประชาชน ในขณะที่ทำเนียบขาวชักจูงให้เราเชื่อในภาพความรุนแรงของ “สันติสุข” ประธานาธิบดีมุนจะทำให้สนธิสัญญาสันติภาพเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับแรงสนับสนุนจากประชาชนในสหรัฐฯ และคนทั่วโลก [IDN-InDepthNews – 23 มีนาคม 2018]

Most Popular